วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

บทความ รัชกาลที่ 9

พระบรมเดชานุภาพแห่งรัชกาลที่ 9



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรชาวไทยเสมอมา ทรงเริ่มเสด็จเยี่ยมเยียน และพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎร ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เริ่มจากราษฎรที่อยู่ใกล้เคียงกับพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และค่อยๆ ขยายพื้นที่ไปทั่วทุกภาคของประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีพื้นที่แห่งใดเลยในประเทศไทย ที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึง ซึ่งพสกนิกรชาวไทยในทุกหนแห่งก็ถวายความ จงรักภักดี แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างล้นเหลือเช่นกัน และจากการเสด็จออกเยี่ยมราษฎรด้วยพระองค์เอง ทำให้ทรงทราบปัญหาในเรื่องความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพของราษฎร ซึ่งเป็นปัญหาในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ด้านการพัฒนาที่ดิน ด้านเกษตรกรรม ด้านการศึกษาวิจัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านอาชีพเสริม และอื่นๆ เหล่านี้คือที่มาของโครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 โครงการ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. โครงการตามพระราชประสงค์ เป็นโครงการที่ทรง ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและทดลองปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ดี เมื่อโครงการนั้น ได้ผลดีมีประโยชน์แก่ราษฎรอย่างแท้จริงแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามารับช่วงงานต่อไป
2. โครงการหลวง เป็นโครงการที่ทรงเลือกดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูพื้นที่บนดอยต่างๆ ในเขตภาคเหนือที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ให้ชาวเขาหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งไม้ดอก และไม้ผล จนมีอาชีพที่มั่นคง ลดการตัดไม้ทำลายป่าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้โครงการหลวง ได้รับรางวัลแมกไซไซ ในฐานะองค์กรดีเด่น สาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ ประจำปี 2531
3. โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวพระราชดำริ และคำแนะนำให้เอกชนไปดำเนินการและรับผิดชอบด้านกำลังทรัพย์ กำลังปัญญา และบุคลากร ตลอดจน ติดตามผลงานด้วยตนเอง เช่น โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
4. โครงการตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา และให้รัฐบาลร่วมดำเนินการ โดยครอบคลุมการพัฒนาในหลายสาขา คือ
ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ทรงพบว่า พื้นที่เกษตร-กรรมหลายแห่งขาดแคลนน้ำ ที่จะใช้เพาะปลูกและอุปโภค ในขณะที่บางแห่งกลับมีน้ำท่วม พืชผลได้รับความเสียหาย จึงทรงจัดหา แหล่งน้ำและการชลประทานให้แก่ราษฎรแบ่งเป็น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค โครงการพัฒนาแหล่งนี้เพื่อการรักษา ต้นน้ำลำธาร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าในชนบทที่ห่างไกล โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก และโครงการบรรเทาอุทกภัย
ด้านการปฏิรูปและพัฒนาที่ดิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพัฒนาที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า ให้อุดมสมบูรณ์ แล้วจัดสรรให้เกษตรกรในรูปสหกรณ์ นอกจากนั้นมีการปลูกหญ้าแฝก เพื่อแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน
ด้านเกษตรกรรม มีหลายโครงการ ได้แก่ โครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ โครงการฝนหลวง โครงการธนาคารข้าว โครงการธนาคารโค กระบือ โครงการส่งเสริมอาชีพพิเศษในยามที่ เกษตรกรว่างจากการทำไร่ทำนา และโครงการสหกรณ์
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงจัดตั้งโครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน เช่น แพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการแพทย์พิเศษพระราชประสงค์ และหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
ด้านการศึกษา พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนก่อสร้างโรงเรียน และทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ เพื่อสนับสนุนเด็กที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์แก่นักเรียนทุกระดับ รวมทั้งโปรดเกล้าฯ จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อส่งไปศึกษาเพิ่มเติมยังต่างประเทศด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งปวงด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยถึงทุกสุขของประชาชน และก่อเกิดความจงรักภักดีที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าตระหนัก ในความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนจนยากจะลบเลือน.
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ""พระปิตุราชา"" ของประชาชาวไทยวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เมื่อทรงรับพระบรมราชาภิเษก ได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
นับจาก นั้นจนบัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระองค์ด้วยพระราชหฤทัยแน่วแน่ ที่จะทรงมุ่งมั่นประกอบ พระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวไทยจนมี ผู้กล่าวว่า
"ไม่มีใครในแผ่นดิน ที่จะประกอบภารกิจต่อเนื่องนานเทียบเท่า พระองค์ท่าน ไม่มีใครในแผ่นดินที่จะรู้จักประเทศไทยโดยรวม ครอบคลุมกว้างไกล และลึกซึ้ง ชัดเจนเทียบเท่าพระองค์ท่าน และไม่มีใครในแผ่นดินที่จะรอบรู้ข้อมูล ข่าวสารที่เกี่ยวกับทุกข์ สุขของประชาชนทั้งประเทศ เทียบเท่าพระองค์ท่าน"
ดังนั้น พระองค์จึงเปรียบเช่น "พระปิตุราชา" ของประชาชนโดยแท้


บทความ เรื่อง  ความดี


บทความ เรื่อง  ความดี                       


                  “ ความดี ”  คือ  การทำให้เกิดผลดีอย่างมีคุณค่าต่อผู้อื่น ต่อส่วนรวม รวมถึงต่อตนเอง ดังนี้
                 ผลดีต่อผู้อื่น โดยเฉพาะที่ไม่จำกัดพวก เหล่า ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ
                  ผลดีต่อส่วนรวม รวมถึงต่อหมู่คณะ ต่อองค์กร ต่อชุมชน ต่อสังคม ต่อโลก ฯลฯ
                  ผลดีต่อตนเอง ได้แก่การพัฒนาตนเองอย่างเป็นคุณและสร้างสรรค์รวมถึงการพัฒนาทางกาย ทางอารมณ์ ทางความคิด ทางจิตวิญญาณ ทางสติ ปัญญา ความสามารถ ฯลฯ
                  “ ความดี ”  เป็นสิ่งที่มีมาในอดีต มีอยู่ในปัจจุบัน และจะมีต่อไปในอนาคต
                  “ ความดี ”  คือ  อุดมการณ์อันสูงส่ง ของสังคมที่พึงปรารถนา
                  “ ความดี ”  คือ  รากฐานอันแน่นลึก ของสังคมอุดมธรรม
                 “ความดี ” คือ  แรงขับเคลื่อนอันทรงพลัง ซึ่งจะช่วยให้สังคมเคลื่อนไปในทิศทางที่พึงประสงค์
                  “ ความดี ” คือ  สายใยอันนุ่มเหนียว ที่ร้อยโยงผู้คนหลากหลายไปสู่ความสันติ ความเจริญ และความสุข ร่วมกัน
                  ธรรมชาตินิยมถือว่า ดี อาจยืนยันได้โดยข้อเท็จจริงที่เราสังเกตได้ตามธรรมชาติ ซึ่งบางพวกก็บอกว่าขึ้นอยู่กับการยืนยันส่วนตัวของใครก็ได้ หรือของสังคม ขณะที่บางพวกบอกว่าต้องมีผู้สังเกตในอุดมคติซึ่งจะระบุข้อเท็จจริงตาม ธรรมชาติเพื่อมายืนยันสิ่งที่ ดี ได้
อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว

                  เรื่องความดีความชั่วจัดเป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่ง ที่จะรู้และเข้าใจ เมื่อรู้และเข้าใจแล้วก็ยังยากที่จะปฏิบัติการเว้นความชั่ว ทำความดีให้สมบูรณ์ได้ ทั้งนี้เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ สมความต้องการและปฏิบัติไม่ได้เสมอไป
                  ตามหลักพุทธศาสนา ถือว่า การกระทำ คำพูดหรือความคิดที่เป็นไปเพื่อไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนและมีประโยชน์ ถือว่าเป็นความดี ที่ตรงกันข้ามเป็นความชั่ว ที่กล่าวมานี้เป็นหลักกว้าง ๆ อาจมีข้อปลีกย่อยอื่น ๆ อีกที่จะต้องทำความเข้าใจพิเศษอีกมากมาย
                  ในองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นนั้นถือเอาประโยชน์เป็นจุดยืนที่สำคัญ คือเมื่อพิจารณาเล็งถึงประโยชน์แล้ว แม้ตนเองจะต้องเดือดร้อนบ้าง ผู้อื่นเดือดร้อนบ้างก็ถือว่าเป็นความดี เช่น พ่อแม่ต้องเดือดร้อนเหนื่อยยากในการทำมาหาทรัพย์เพื่อให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน
                  ตัวลูกเองก็ต้องเดือดร้อน ทุกข์กายทุกข์ใจในการศึกษาเล่าเรียน ต้องอดทนอดออม ต้องหักใจไม่ให้หลงใหลเพลิดเพลินในการเที่ยวเล่น เอาเวลาเหล่านั้นมาศึกษาเล่าเรียน แต่การกระทำดังกล่าวนี้มีคุณประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นความดี  ในทางกลับกัน สิ่งที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นมีความสุข ความเพลิดเพลิน แต่ไม่มีประโยชน์ กลับจะเป็นโทษทั้งแก่ตนและผู้อื่น เช่น การแสวงหาความสุขจากอบายมุขต่าง ๆ ถือว่าเป็นความชั่ว
                  พิจารณาตามหลักที่สูงขึ้นไปสักหน่อย มาตรฐานแห่งความดี ความชั่ว ท่านถือเอา ความโลภ โกรธ หลง และไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นหลักพิจารณา คือกรรมใดที่ทำเพราะโลภ โกรธ หลง เป็นมูล จัดเป็นกรรมชั่ว ถ้าทำด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นมูล คือทำด้วยเหตุผลบริสุทธิ์จัดเป็นกรรมดี  โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศลมูล รากเหง้าของอกุศล ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นกุศลมูล รากเหง้าของกุศล ท่านว่าเมื่อกุศลมูลเกิดขึ้นแล้ว กุศลอย่างอื่นที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น ฝ่ายอกุศลมูลก็เช่นเดียวกัน

บทความเกี่ยวกับเรื่องผี

 เล่าประสบการณ์ขนหัวลุกจากบ้านผีสิง 

 

        เมื่อราวสิบปีเศษมาแล้ว ดิฉันได้พบกับเหตุกา
รณ์สยดสยองสุดๆ อย่างเต็มหูเต็มตา ขณะนั้น ดิฉันอายุ 25 ปี บริบูรณ์ มีการงานทำเป็นหลักเป็นที่บริษัทการเงินแห่งหนึ่งที่ถนนรัชดาภิเษก ไม่ไกลจากบ้านย่านอโศก-ดินแดงเท่าไรนัก สุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ถ้าจะเชื่อตามโชคลางก็คือ "วัยเบญจเพส" นั่นเอง! 

          สาเหตุที่ทำให้ขนหัวลุก สติแตกไปชั่วครู่ก็เพราะไปบ้านเพื่อนค่ะ 

          ดิฉันมีเพื่อนสนิทชื่อเอ้ เราคบกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย บ้านเอ้อยู่ถึงหมู่บ้าน แถวคลองประปา ประชาชื่นโน่นแน่ะ เป็นบ้านจัดสรร เป็นบ้านตึกสองชั้นปลูกคล้ายๆ กัน แถมทาสีขาวๆ นวลๆ มองไกลๆ สวยเหมือนบ้านตุ๊กตาไม่มีผิด 

          เรายังอยู่กับพ่อแม่เหมือนกัน แถมมีน้องชายน้องสาวอย่างละคนเหมือนกันอีกด้วย 

          ครอบครัวเราก็พลอยสนิทสนม ไปมาหาสู่กันตลอด บางทีก็ไปต่างจังหวัดด้วยกัน เอ้เคยมาค้างกับดิฉัน ส่วนดิฉันก็เคยไปค้างบ้านเอ้ มีของกินดีๆ ก็ฝากไปถึงบ้านของกันและกัน 

          สาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องขนหัวลุก มาจากครอบครัวเราไปเที่ยวมหาชัยกันในตอนเช้าวันเสาร์ ดิฉันโทร.ไปชวนเอ้แล้ว แต่ปรากฏว่าแม่เธอไม่ค่อยสบาย ตอนนี้น้าจุ๋มแม่บ้านกำลังขี่จักรยานไปซื้อยาที่คลินิกปากซอย 

          "ขากลับซื้อของทะเลมาฝากด้วยละกัน" เอ้บอก 

          ระยะทางใกล้ๆ ที่มีแต่สวนผลไม้ นาเกลือ และแม่น้ำท่าจีนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารทะเลสารพัดชนิด อากาศปลอดโปร่งกว่ากรุงเทพฯ หลายเท่า...พวกเราสนุกกันมากค่ะ ไปเที่ยวมหาชัยนี่ไปเช้ากลับเย็นได้สบายๆ 

          รถขาเข้ายังบางตา ดิฉันขับรถถึงบ้านราวห้าโมงเย็น นึกยังไงก็ไม่ทราบ ส่งพ่อแม่กับน้องๆ เข้าบ้านแล้วบึ่งต่อไปบ้านเอ้...ฟ้ามืดครึ้มมาตั้งแต่เลี้ยวเข้าประชาชื่นแล้วค่ะ ครู่เดียวฝนก็เทกระหน่ำ รถที่เคยแล่นลิ่วก็ต้องคลานช้าๆ คอยเพ่งมองสะพานข้ามคลองประปาที่มีป้าย หมู่บ้าน โชคดีที่เลี้ยวเข้าไปหน่อยเดียวฝนก็ซาลง แต่ฟ้ายังหนักอึ้งเหมือนเดิม 

          ครู่ใหญ่ๆ ก็มากดแตรหน้าบ้าน...น้าจุ๋มกางร่มวิ่งมาเปิดประตูรั้วให้ ดิฉันไปจอดรถใต้ถุนห้องนอนเพื่อน ด้านขวามือเป็นห้องรับแขก ของฝากวางอยู่บนเบาะหน้าแล้ว ทำให้คว้าติดมือลงไปได้ทันที 

          ก้าวเข้าไปก็ชะงักกึกเมื่อได้กลิ่นเหม็นอับ สาบสางโชยมาเข้าจมูก ดิฉันเหลียวซ้ายแลขวาก็ไม่เห็นเอ้ สงสัยจะยังอยู่ชั้นบน หรือไม่ก็เพิ่งแต่งตัวเพราะไม่รู้ว่าเพื่อนจะมาเยี่ยม 

          น้าจุ๋มวิ่งผ่านรถหายเข้าไปในห้องพักของแกแล้ว...แสงไฟน้อยแรงเทียนจากเพดาน ส่องให้เห็นร่างที่นอนห่มผ้าอยู่บนเตียงเตี้ยๆ ชิดฝา กลิ่นเหม็นกวนประสาทอ้อยอิ่งอยู่รอบๆ ตัว...ทำไมเอ้ถึงปล่อยให้แม่ลงมานอนคนเดียวนะ? พ่อกับน้องๆ หายไปไหนหมด? 

          "โอยยย..." เสียงนั้นทำให้ดิฉันเกือบสะดุ้ง หันขวับไปมองก็เห็นแม่เอ้พลิกหน้าไปมาช้าๆ "ขอน้ำ...หิวน้ำเหลือเกิน..." 

          "ได้ค่ะ" ดิฉันรับปากโดยอัตโนมัติ ได้ยินเสียงบันไดลั่นเอี๊ยดๆ เอ้คงจะลงมาแล้วแต่ก็ไม่เห็นวี่แวว...อากาศหลังฝนเยือกเย็นลงทุกทีจนแทบหนาวสะท้าน ดิฉันเหลือบไปเห็นแก้วน้ำบนโต๊ะเตี้ยๆ หัวเตียง รีบก้าวไปหยิบแก้วน้ำมาให้แม่เอ้ ตั้งใจว่าจะป้อนให้ท่าน... 

          "คุณพระช่วย!" ดิฉันหลุดอุทาน เมื่อเห็นใบหน้าดำเกรียมจนแทบจำไม่ได้ ผมสีเทากระจายอยู่เต็มหมอน...นัยน์ตาขาวๆ เหลือกไปมา แถมแลบลิ้นเข้าๆ ออกๆ สีแดงสดเหมือนลิ้นตุ๊กแก จนแก้วน้ำหวิดร่วงจากมือ 

          เอ๊ะ! นั่นไม่ใช่คุณป้าอรทัย-แม่ของเอ้นี่นา! สำนึกนั้นทำให้ดิฉันถอยกรูดๆ แข้งขาสั่น ใจสั่น หัวหมุนติ้วแทบระเบิด...เกิดอะไรขึ้น? ทำไมดิฉันต้องมาพบภาพสยองขวัญนี้ด้วย? ขณะนั้นเองเสียงบันไดก็ลั่นเอี๊ยดๆ อีกครั้ง ขายาวๆ ของใครคนหนึ่งกำลังก้าวลงมาช้าๆ 

          "เอ้! เอ้เหรอ..." ดิฉันถามเสียงสั่นๆ แต่ไม่มีคำตอบ นัยน์ตาเบิกค้างจ้องมอง หญิงชราร่างร้ายที่นอนอยู่ตรงหน้า ทันใดนั้น...เหมือนนรกบันดาลให้เป็นไปในพริบตา 

          ร่างร้ายนั้นมีอาการคล้ายหุ่นกระบอกที่นอนแน่นิ่ง แต่มีผู้ชักให้ผลุนผลันลุกขึ้น...จากท่านอนพรวดพราดเป็นท่ายืนทันที ศีรษะก้มต่ำ ผมยาวปรกหน้า สองแขนลีบเล็กแกว่งไกวไปมาจนดิฉันผงะหน้า กรีดร้องออกมาสุดเสียง 

          "ช่วยด้วย...!!" ม่านตาพร่าพราย สรรพสิ่งหมุนเคว้งคว้าง...ดิฉันวิ่งเตลิดเหมือนคนบ้าออกจากบ้านนรกจกเปรตนั้น...ชนกับเอ้ที่หน้าประตูก่อนจะสิ้นสติไป 

          เมื่อมารู้ตัวอีกทีก็พบตัวเองนอนบนโซฟาในห้องรับแขกบ้านเอ้ พ่อแม่กับน้องๆ จ้องมองด้วยความห่วงใย...เอ้เล่าว่าได้ยินเสียงกรีดร้องก็วิ่งออกไปดู เห็นรถยนต์ดิฉันจอดอยู่ที่นั่นกับดิฉันวิ่งกระเจิงออกมา...จากบ้านร้างผีสิงนั่นแหละค่ะ 

          เพราะฝนฟ้าและบ้านที่คล้ายๆ กันทำให้ดิฉันเข้าบ้านผิด...ไม่ช็อกตายคาที่ก็ถือว่าเป็นบุญแล้วค่ะ!

บทความเศรษฐกิจพอเพียงรัชกาลที่ 9


เศรษฐกิจพอเพียงรัชกาลที่ 9


ปัจจุบันการดำรงชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป มีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา  ทำให้ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อความอยู่รอดในสังคม ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ต้องสวนทางกับแนวคิดด้าน  เศรษฐกิจพอเพียง  และสิ่งดีๆ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

  เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่เน้นความพอดี บางคนเรียกว่าปรัชญาเศรษฐกิจแบบมัชฌิมา คือ ยึดทางสายกลาง ทั้งนี้ ถ้าทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว และน้อมรับนำไปปฏิบัติตามปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้มีพระราชดำรัสไว้   สังคมไทยก็จะมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีอาชีพเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองและสามารถยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ได้ โดยการดำเนินชีวิตในแบบเรียบง่าย ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ตลอดจน ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น  ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติได้กล่าวกับประเทศต่าง ๆ ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นตัวอย่างที่ควรปฏิบัติตาม เพราะเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่มีความพอเพียง ซึ่งหมายถึง ความพอประมาณ  ความมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีต่อผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก โดยอาศัยความรอบรู้ รอบคอบและความระมัดระวังในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้เพื่อวางแผนและดำเนินการ  นอกจากนี้   ต้องเสริมสร้างพื้นฐานทางด้านจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีจิตสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความรอบรู้ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความสมดุลและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น


  ดังนั้น  คนไทยทุกคนจึงควรตระหนักและหันมาดำเนินชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก

ข้อคิดคติธรรม


ข้อคิดคติธรรม

01. จงทำดี อย่าหวังค่าตอบแทน ถึงแม้จะเป็นเพียงคำสรรเสริญก็ตาม
02. จงทำดี ให้มันดี ถึงแม้ผลงานออกมาไม่ดี ก็ถือว่าเราทำดีที่สุดแล้ว
03. จงทำดี แต่อย่าอวดดี เพราะทุกคนก็มีดีไม่เหมือนกัน
04. อุปสรรคมักจะเกิดขึ้นในขณะที่กำลังทำความดี ดีเหลือเกินหนี้สินเก่าจะได้หมดไป
05. อุปสัคมักจะไม่เกิดขึ้นในขณะกำลังทำความชั่ว เพราะเป็นทางกู้หนี้สินใหม่เข้ามาแทน
06. ทุก ๆ คนปรารถนาแต่สิ่งที่ดี ๆ แต่ไม่รู้จักการทำความดี 
07. ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อย่าพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
08. คนโง่ไม่มีความพยายามที่จะเข้าใจอะไรได้เลย ได้แต่เอะอะโวยวายว่า “ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไม ? ถึงต้องเป็นเรา ทำไม ? ทำไม ?
09. ผู้ฉลาดในธรรม ยอมรับว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ซึ่งไม่มีอะไรที่น่าตกใจเลย เพราะเป็นเรื่องธรรมดา
10. ชีวิตที่ไม่ขาดทุน คือการไม่เคยทำความชั่วเลย
11. เพราะฉะนั้นคนเราเจอทั้งสุขและทุกข์ เพราะว่าทำทั้งดี ทำทั้งชั่ว
12. การตามใจตัวเองอยู่เสมอ เป็นทางตันในการดำเนินชีวิต
13. การขัดใจตัวเอง ก็คือการขัดเกลาหนทางให้ราบเรียบ
14. ถ้าหากเราอยากให้คนอื่นมาเข้าใจหรือเอาใจในตัวเรา เหมือนกับว่าเรายังเป็นเด็กไร้เดียงสาไม่รู้จักเติบโตเลย 
15. เราพยายามที่จะเข้าใจคนอื่น มากกว่าที่จะให้คนอื่นมาเข้าใจ ตอนนี้ เรากำลังจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว