วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

บทความเศรษฐกิจพอเพียงรัชกาลที่ 9


เศรษฐกิจพอเพียงรัชกาลที่ 9


ปัจจุบันการดำรงชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป มีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา  ทำให้ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อความอยู่รอดในสังคม ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ต้องสวนทางกับแนวคิดด้าน  เศรษฐกิจพอเพียง  และสิ่งดีๆ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

  เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่เน้นความพอดี บางคนเรียกว่าปรัชญาเศรษฐกิจแบบมัชฌิมา คือ ยึดทางสายกลาง ทั้งนี้ ถ้าทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว และน้อมรับนำไปปฏิบัติตามปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้มีพระราชดำรัสไว้   สังคมไทยก็จะมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีอาชีพเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองและสามารถยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ได้ โดยการดำเนินชีวิตในแบบเรียบง่าย ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ตลอดจน ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น  ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติได้กล่าวกับประเทศต่าง ๆ ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นตัวอย่างที่ควรปฏิบัติตาม เพราะเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่มีความพอเพียง ซึ่งหมายถึง ความพอประมาณ  ความมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีต่อผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก โดยอาศัยความรอบรู้ รอบคอบและความระมัดระวังในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้เพื่อวางแผนและดำเนินการ  นอกจากนี้   ต้องเสริมสร้างพื้นฐานทางด้านจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีจิตสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความรอบรู้ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความสมดุลและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น


  ดังนั้น  คนไทยทุกคนจึงควรตระหนักและหันมาดำเนินชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น